บทความ

ฉลาดลดกับ...ฉลากลดโลกร้อน
อ่าน
1,556
คะแนน
แก้ไขล่าสุด
01/10/2563
ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ หรือเรียกสั้นๆว่า “ฉลากลดโลกร้อน” เป็นฉลากที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้ผ่านกระบวนการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตแล้ว ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน และการกำจัดซาก ซึ่งมีความแตกต่างจากฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ที่ แสดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ดังนั้น เป้าหมายในการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนเพื่อส่งเสริมให้ทุกผลิตภัณฑ์มีการพัฒนาปรับปรุงเพื่อยกระดับสู่การขึ้นทะเบียนฉลากลดโลกร้อน
จากข้อมูล ณ เดือน กันยายน 2563 มีผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนฉลากลดโลกร้อนกับองค์การบริหารจัดกาารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. แล้ว จำนวน 674 ผลิตภัณฑ์ 90 บริษัท ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 4,501,109 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ทำอย่างไรให้ได้ฉลากลดโลกร้อน?
เกณฑ์ของการขึ้นทะเบียนฉลากลดโลกร้อนประกอบด้วย 2 เกณฑ์ คือ
1. ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบันเปรียบเทียบกับค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีฐาน(ข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี) ลดลงมากกว่า หรือ เท่ากับ 2%
2. ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ปีปัจจุบันต่ำกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ (Benchmark) ของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดย อบก. จะประกาศค่า Benchmark ของแต่ละผลิตภัณฑ์ไว้บนเวปไซต์
แต่ทั้งนี้ควรจะใช้การเปรียบเทียบกับปีฐานก่อนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างแท้จริงจากการปฏิบัติจริง
สำหรับหลักการในการประเมินว่าค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลดลงร้อยละ 2 หรือไม่เมื่อเทียบกับปีฐาน มีขั้นตอนประกอบด้วย
1 ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลกิจกรรมปีปัจจุบัน ได้แก่
ข้อมูลกิจกรรมปีล่าสุดที่สามารถรวบรวมได้ ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ประกาศโดย อบก. ฉบับปัจจุบัน
2 ประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีฐาน (Base Year) :
ทำการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ตามแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุต พริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ของ อบก. โดยใช้ข้อมูลกิจกรรมในปีฐาน กล่าวคือ ข้อมูลกิจกรรมนับจากปีปัจจุบันย้อนหลังได้ไม่เกิน 3 ปี โดยดำเนินการ ดังนี้
- กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์กับ อบก.: ให้ใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียน แต่ต้องปรับฐานการคำนวณใหม่ โดยใช้ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ ที่ประกาศโดย อบก. ฉบับปัจจุบัน
- กรณีที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งไม่เคยผ่านการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์กับ อบก.: ให้ใช้ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และข้อกำหนดเฉพาะของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ประกาศโดย อบก. ฉบับปัจจุบัน
3 เปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบันกับปีฐาน :
นำค่าคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้อ 1 ซึ่งเป็นค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ในปีปัจจุบัน และค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์จากข้อ 2 ซึ่งเป็นค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ของปีฐานมาเปรียบเทียบกัน หากลดลง มากกว่า หรือ เท่ากับ 2%ก็สามารถขึ้นทะเบียนฉลากลดโลกร้อนได้
เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นสามารถดูได้จากข้อมูลตัวอย่างด้านล่าง
เรียบเรียงโดย พวงพันธ์ ศรีทอง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)